ลูกติดเกม วิธีสังเกตและแนวทางแก้ปัญหา

ลูกติดเกม เป็นพฤติกรรมปัญหาที่พ่อแม่ในยุคนี้ส่วนใหญ่จะต้องพบเจอ เนื่องจากในยุคนี้เครื่องมือไอทีได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเราไปเสียแล้ว และกลายเป็นเครื่องสร้างความบรรเทิงที่ดีเยี่ยมทั้งเด็กและผู้ใหญ่ จึงไม่ใช่เรื่องแปลงที่เด็กในยุคนี้จะมีภาวะ ติดเกม กันมากขึ้น

ก่อนอื่นอยากให้มองว่า เกมออนไลน์นับเป็นสื่อเพื่อความบันเทิงชนิดหนึ่ง เหมือนกับที่ผู้ใหญ่ติดซีรีส์ ติดละคร หรือโซเชียลมีเดีย อย่ามองว่าเกมออนเป็นตัวปัญหา หรือความร้ายแรงอะไรเลย เพราะปัญหาจริง ๆ ไม่ได้อยู่ที่ “เกม” แต่อยู่ที่ความ “พอดี” ในการที่เราใช้เวลา 1 วันไปกับมันมากน้อยแค่ไหนมากกว่า

ต้นเหตุสำคัญที่ส่งผลให้ ลูกติดเกม ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่ามาจากความไม่เข้าใจของพ่อแม่ และผู้ปกครอง ที่มองว่าเด็กอยู่กับเครื่องมือไอที และเด็กเล่นอยู่ในสายตา แล้วรู้สึกว่าไม่อันตราย แต่จริงๆ แล้วการเล่นเกมจนกลายเป็นการเสพติดกลับยิ่งทำให้เด็กไม่ได้พัฒนาทักษะและส่งผลต่อสุขภาพ แต่ก็ยังไม่สายเกินไปที่พ่อแม่ และผู้ปกครองจะนำลูกของตนเองในออกมาจากภาวะ ติดเกม


ข้อแนะนำผู้ปกครองในการสังเกตว่า ลูกติดเกม หรือไม่

  1. ลูกใช้เวลาในการเล่นมากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน และจะเพิ่มระยะเวลาในการเล่นขึ้นเรื่อยๆ
  2. สัมพันธภาพกับบุคคลรอบข้างลดลง เปลี่ยนจากเดิม โดยเด็กจะชื่นชอบคบหากับเพื่อนที่เล่นเกมด้วยกัน หรือเพื่อนที่รู้จักภายในเกม
  3. ลูกจะมีอารมณ์ฉุนเฉียวโมโห หงุดหงิด เมื่อถูกให้หยุดหรือให้เลิกเล่นเกม
  4. กิจวัตรประจำวันเปลี่ยนแปลง เช่น ไม่กินข้าว ดูแลตนเองในชีวิตประจำวันลดลง รวมทั้งผลการเรียนตกต่ำ โดดเรียน หนีเรียน ถ้าท่านพบเด็กมีลักษณะดังกล่าว สามารถมารับบริการได้ที่สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชครินทร์ ในวันและเวลาราชการ และโรงพยาบาลจิตเวชทุกแห่ง คลินิกสุขภาพจิต ในโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ โดยมีบริการทั้งการช่วยเหลือรายบุคคลและรายกลุ่ม โดยจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น รวมทั้งบุคลากรสหวิชาชีพ หรือสามารถสอบถามทางสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

วิธีแก้ไขซึ่งชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทยแนะนำคือ

  1. หากในบ้านยังไม่มีกฎหรือกติกาการเล่นเกม พ่อแม่ต้องวางกติกาโดยพูดคุยกับเด็ก เพื่อกำหนดกติกากันล่วงหน้าก่อนจะซื้อเกม
  2. พ่อแม่ควรมีเวลาอยู่กับเด็กมากขึ้น พาออกนอกบ้านเพื่อไปทำกิจกรรมที่เด็กชอบ (ยกเว้นการไปเล่นเกมนอกบ้าน) เนื่องจากเด็กส่วนหนึ่งติดเกมเพราะความเหงา เบื่อไม่มีอะไรสนุกๆ ทำ
  3. พ่อแม่ควรรักษาสัมพันธภาพที่ดีกับเด็ก หลีกเลี่ยงการบ่อย ตำหนิ ใช้อารมณ์ หรือถ้อยคำรุนแรง  แสดงความเห็นใจ เข้าใจว่าเด็กไม่สามารถคุมตัวเอง หรือตัดขาดจากเกมได้จริงๆ
  4. พ่อแม่และผู้ใหญ่ทุกคนในบ้านต้องร่วมมือกันในการแก้ปัญหา โดยใช้กฎเดียวกัน อย่าปัดให้เป็นภาระหรือความรับผิดชอบของใครคนใดคนหนึ่ง
  5. สร้างเครือข่ายผู้ปกครองที่มีเด็กติดเกมเหมือนๆกันหลายๆ ครอบครัว แล้วผลัดกันนำเด็กทำกิจกรรมหลังเลิกเรียน หรือในวันหยุด เช่น Camping, field trip, walk rally ฯลฯ จัดตั้งกลุ่มย่อยๆ เช่นsport club,adventure club เป็นต้น.       ในรายที่ติดมากจริงๆ และเด็กต่อต้านรุนแรงที่จะเลิก ในระยะแรกพ่อแม่อาจเข้าไปมีส่วนร่วมในการเล่นเกมกับเด็ก ทำความรู้จักกับเกมที่เด็กชอบเล่น หากเห็นว่าเป็นเกมที่ไม่เหมาะสมหรือเกมที่ใช้ความรุนแรงพยายามเบี่ยงเบนให้เด็กมาสนใจเกมอื่นที่พอจะมีส่วนดี ดึงเอาส่วนดีของเกมมาสอนเด็ก เช่น เกมสร้างเมือง หรือ Strategic game ต่างๆ เมื่อสัมพันธ์ภาพกับเด็กเริ่มดีขึ้น พ่อแม่จึงค่อยๆ ดึงเด็กให้มาสนใจในกิจกรรมอื่นทีละเล็กทีละน้อย
  6. หากทำทุกวิธีข้างต้นแล้วไม่ได้ผล หรือในกรณีที่สงสัยว่าเด็กอาจมีปัญหาทางจิตใจ หรือโรคทางจิตเวช เช่น ภาวะซึมเศร้า หรือสมาธิสั้น ควรส่งเด็กเพื่อรับการวินิจฉัย และบำบัดรักษาจากจิตแพทย์ หรือจิตแพทย์เด็ก

ที่มา

https://women.mthai.com/momandchildren/mom-child/132888.html

http://www.komchadluek.net/news/edu-health/169587