วัยรุ่น นอนดึก ภัยเงียบต่อสุขภาพ

นอนดึกเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพของเด็กเล็ก วัยรุ่นและผู้ใหญ่ ที่อาจทำให้เหนื่อยล้าหรือง่วงระหว่างวัน คนส่วนใหญ่มักคิดว่าการนอนดึกนั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่ และไม่ทราบถึงภัยอันตรายที่ส่งผลต่อสุขภาพ ทั้งที่จริงแล้ว การนอนดึกเป็นประจำอย่างต่อเนื่องอาจทำให้เป็นโรคต่าง ๆ เช่น โรคอ้วนหรือโรคเบาหวาน บางคนนอนดึกเพราะเป็นผลข้างเคียงจากโรคหรืออาการบางอย่าง ในขณะที่บางคนนอนดึกเพราะทำกิจกรรมจนเลยเวลา ทั้งนี้ ทุกสาเหตุล้วนแต่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ควรรีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนให้เหมาะสม ก่อนที่จะเสียสุขภาพมากไปกว่าเดิม

ผลเสียจากนอนดึก

การนอนดึกเป็นประจำอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในหลาย ๆ ด้าน ทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพร่างกาย หากไม่รีบแก้ไข อาจต้องประสบปัญหาหรือเป็นโรคต่าง ๆ ดังนี้

  • ปัญหาสุขภาพจิต การนอนดึกส่งผลถึงอารมณ์หลังจากตื่นนอน เช่น  ความคิดในเชิงลบ ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า โรคย้ำคิดย้ำทำ เป็นต้น
  • โรคอ้วน หากเปรียบเทียบระหว่างชายและหญิง ผู้หญิงมีความเสี่ยงมากกว่า เพราะผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะมีไขมันหน้าท้องและมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นภาวะอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome) และยังมีงานวิจัยระบุว่า การนอนดึกอาจมีส่วนทำให้เกิดโรคอ้วนในเด็กและวัยรุ่นได้ เพราะพบความสัมพันธ์ของค่าดัชนีมวลกายสูงขึ้น แต่ยังไม่ได้เป็นเหตุเป็นผลกันอย่างชัดเจน
  • โรคเบาหวาน ร่างกายจำเป็นต้องใช้อินซูลิน (Insulin) เพื่อดูดซึมน้ำตาลในกระแสเลือด แต่การนอนดึกอาจส่งผลให้ร่างกายหยุดการผลิตอินซูลินออกมา ระดับน้ำตาลในเลือดจึงสูงขึ้น และอาจทำให้เป็นโรคเบาหวานได้
  • โรคหัวใจ มีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าผู้ที่นอนหลังเที่ยงคืน อาจะเกิดภาวะเส้นเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) ได้มากกว่าผู้ที่นอนก่อนเที่ยงคืน แต่ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าการนอนดึกส่งผลให้เป็นโรคหัวใจโดยตรง เพราะผู้ที่เป็นโรคหัวใจจากการนอนดึกนั้น มักมีปัจจัยเสียงอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น สูบบุหรี่ ดื่มหนักหรือกินมากเกินไป เป็นต้น

วิธีแก้ปัญหาการนอนดึก

มีหลายวิธีที่ช่วยแก้ปัญหาการนอนดึกได้ อาจเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือกิจวัตรประจำวันบางอย่างในเบื้องต้น โดยปัญหาการนอนดึกมีวิธีแก้ดังนี้

  • พยายามจัดการกับงานที่เครียดในช่วงต้น ๆ ของวัน ส่วนงานที่ไม่ค่อยใช้ความคิดมาก ให้เก็บไว้ทำในตอนท้ายของวัน
  • กำหนดเวลานอนให้เป็นกิจวัตรโดยมีช่วงเวลาผ่อนคลายก่อนเข้านอน
  • ไม่ทำกิจกรรมอื่น ๆ บนเตียงนอน เช่น ดูทีวี ใช้เตียงนอนเพียงเพื่อนอนหรือกิจกรรมทางเพศเท่านั้น
  • สวมแว่นตาเลนส์สีเหลืองหรือสีส้มอ่อนเมื่อต้องทำงานดึก เพราะจะช่วยป้องกันแสงสีน้ำเงินมากระทบดวงตา และเมื่อถึงบ้านดึก ควรรีบเข้านอนทันที
  • จำกัดการบริโภคคาเฟอีน หรือหลีกเลี่ยงการบริโภคคาเฟอีนในช่วงบ่าย  
  • หลีกเลี่ยงการบริโภคแอลกอฮอล์ก่อนนอน เพราะอาจทำให้ต้องตื่นระหว่างคืน แต่หากดื่มแอลกอฮอล์ในตอนเย็น ๆ ก็อาจช่วยให้หลับได้ง่ายขึ้น

 

ที่มา : https://www.pobpad.com/