เลี้ยงลูกอย่างไรให้สุขภาพจิตดี

ถ้าอยากให้ลูกเป็นเด็กดีเติบโตไปด้วยสุขภาพจิตดีที่ เข้ากับคนอื่นได้ เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้อื่น คุณมาถูกทางแล้ว มาดูกันว่าจะสามารถฝึกเด็กๆ อย่างไรให้เป็นเด็กสุขภาพจิตดีได้

สอนลูกให้ภูมิใจในตัวเอง

เด็กๆ จะประเมินสิ่งที่ตัวเองทำว่า สำเร็จ” หรือ ล้มเหลว” ตามที่คนรอบกายมีความคิดเห็นในเรื่องนั้นอย่างไร หากคุณพ่อคุณแม่เห็นว่า สิ่งที่ลูกทำเป็นสิ่งที่ดี เช่น การติดกระดุมเสื้อได้สำเร็จ เอาชามไปเก็บหลังจากกินข้าวเสร็จ หรือไปอาบน้ำเองโดยไม่อิดออด วิธีเดียวที่จะทำให้เด็กรับรู้ได้ก็คือการ ชม” วิธีชมที่ถูกต้องควรเป็นคำชมที่ระบุถึงพฤติกรรมที่ดีของลูกด้วยความจริงใจ เช่น เก่งจังติดกระดุมเสื้อเองได้แล้ว” และไม่จำเป็นต้องแถมด้วยการสั่งสอนหรืออธิบายอะไรที่เยิ่นเย้อเกินไป เพราะอาจทำให้เด็กสับสนได้

และเมื่อลูกทำความผิดที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก หรือเกิดหลังจากที่เคยห้ามเขาไว้แล้ว สิ่งที่ต้องทำคือการตำหนิ แต่ อย่าให้เสียเซลฟ์” ซึ่งสามารถทำด้วยการตำหนิเฉพาะในสิ่งที่เขาทำ โดยหลีกเลี่ยงการตีตราหรือตัดสินที่ตัวบุคคล เช่น การสรุปว่าเขาเป็นคนแบบนั้น ลูกนี่เหลวไหลจริงๆ แม่บอกแล้วใช่ไหมว่าห้ามทำแบบนี้” แต่ควรบอกว่า ลูกทำแบบนี้ไม่ได้นะคะ” ตามด้วยการบอกสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการให้เขาแก้ไขหรือบทลงโทษที่เขาจะได้รับ

สอนให้ลูกมองโลกในแง่ดี

เป็นทักษะที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้ลูกเติบโตขึ้นไปเป็นคนที่มีสุขภาพจิตดี การสอนให้ลูกเป็นคนมองโลกในแง่ดี ไม่ได้หมายความว่า ต้องให้ลูกมองอะไรก็เป็นเรื่องดีไปเสียหมดอย่างไม่ลืมหูลืมตา เพราะบางเรื่อง เช่น ความขัดแย้งในครอบครัว หรือการสอบตกทุกวิชา ก็คงมองเป็นเรื่องที่น่ายินดีได้ยาก

แต่การมองโลกในแง่ดีที่ว่านี้คือการพยายามมองหา แง่มุมบวก” ที่มีอยู่ในเรื่องลบๆ เพื่อให้มีกำลังใจที่จะฝ่าฟันอุปสรรคโดยไม่ย่อท้อ รวมถึงช่วยให้ลูกได้ “ปรับตัว” หรือ ทำใจ” กับปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย

สอนลูกให้ปรับตัวเก่ง

การปรับตัวเป็นคุณสมบัติสำคัญของมนุษย์ที่จะช่วยให้พร้อมรับมือกับทุกการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าฝนตก แดดออก อาหารไม่อร่อย งานยาก น้ำไม่ไหล ไฟดับ หากมีความสามารถในการปรับตัวได้ดี ก็จะเอาตัวรอดในสถานการณ์นั้นได้อย่างสบาย โดยเริ่มจากการ ฝึกให้ลูกมีความอดทนด้วยการเลี้ยงดูแบบ ไม่ตามใจ” และได้ลองทำกิจกรรมที่หลากหลาย และได้มีโอกาสเอาชนะอุปสรรค เช่นปีนข้ามรั้วให้สำเร็จ ประดิษฐ์สิ่งของ เกมเขาวงกต เป็นต้น

สอนลูกให้เข้าใจความรู้สึกของคนอื่น

เมื่อเด็กๆ ที่ขาดความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับผู้อื่น เช่น อาจจะเอาเปรียบเพื่อนร่วมงานโดยไม่สนใจว่าคนอื่นจะรู้สึกอย่างไร โดยเริ่มฝึกลูกด้วยการตั้งคำถามเกี่ยวกับความรู้สึกเช่น แม่เห็นว่าหนูกำลังโกรธมากเลย โกรธอะไรใครบอกแม่หน่อยสิจ๊ะ” และความรู้สึกของผู้อื่น เช่น หนูลองเดาซิว่าที่หนูไปพูดกับเพื่อนแบบนั้น เขาจะรู้สึกยังไง”

รวมไปถึงการสอนให้ลูกได้ช่วยเหลือคนอื่น สำหรับข้อนี้ถือว่าเป็นปัญหาระดับชาติ เพราะโดยธรรมชาติแล้ว บทบาทของเด็กแรกเกิดจนถึงวัยอนุบาลนั้นมักจะเป็นผู้รับ ไม่ว่าจะได้รับการดูแลเอาใจใส่ ได้รับความรักความสนใจ มากกว่าจะเป็นผู้ให้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรหาโอกาสให้ลูกได้ฝึกให้ผู้อื่นเสียบ้าง ไม่ว่าจะเป็นช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ เช่น งานบ้าน หรือการแบ่งของกิน ของเล่น โดยเริ่มจากคุณพ่อคุณแม่ก่อน ถึงค่อยขยายวงออกไปเป็นเพื่อน น้อง และคนอื่นๆ ต่อไป

สอนลูกให้รักษาสิทธิของตนเอง

คุณพ่อคุณแม่อาจจะสงสัยว่าวิธีไหนดีที่สุด ที่ควรใช้สอนลูกให้สามารถจัดการกับคนที่จะมาเอาเปรียบเขาได้ โดยเฉพาะที่เวลาไม่มีคุณพ่อคุณแม่อยู่ด้วย

วิธีการพูดเตือนด้วยความสุภาพ หรือขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ให้เข้ามาแก้ไขปัญหา  เป็นวิธีจัดการได้ดีที่สุด เพราะเป็นทางสายกลางที่จะทำให้ไม่ถูกเอาเปรียบ และไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นใหม่ การพูดคุยและยืนยันในสิทธิของตัวเองอย่างสุภาพจะช่วยให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข

สอนลูกให้มีความรับผิดชอบ

สิ่งพื้นฐานที่สุดที่ควรจะมอบหมายให้ลูกรับผิดชอบให้ได้คือ “ตัวของเขาเอง” การฝึกให้ลูกรับผิดชอบตัวเองนั้นเริ่มได้ตั้งแต่ช่วงที่เขาฝึกเดินด้วยตัวเอง (ไม่ต้องให้พ่อแม่อุ้ม) หรือช่วงที่สอนลูกให้รู้จักระวังอันตราย เพราะหากไม่ระวังก็เป็นตัวเขาเองที่จะเจ็บ หรือช่วงที่เขาเริ่มจับช้อนตักข้าวเข้าปากเองได้ (ถ้าหิว ก็ต้องตักข้าวกินเอง ไม่ต้องรอคนป้อน)

จนเมื่อโตขึ้นอีกหน่อย การฝึกให้ลูกรับผิดชอบตัวเองก็คือ การอาบน้ำ แปรงฟัน แต่งตัว ใส่ถุงเท้ารองเท้าเอง กินข้าวเสร็จก็ต้องเก็บจานด้วยตัวเอง เล่นของเล่นเสร็จก็เก็บให้เข้าที่ ทำการบ้านให้เสร็จทุกวัน

สอนลูกให้มีระเบียบวินัย

การที่จะมีระเบียบวินัยได้นั้น เขาต้องรู้เสียก่อนว่าในแต่ละวันเขาต้องทำอะไรบ้าง คุณพ่อคุณแม่ควรคุยกับลูกถึงกิจกรรมที่เขาต้องทำในแต่ละวัน เรียงลำดับตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน เช่น ตื่นเช้า อาบน้ำ แปรงฟัน กินข้าวเช้า อ่านหนังสือการ์ตูน เล่นของเล่น กินข้าวกลางวัน เตะบอลกับพ่อ… จนถึงเวลาเข้านอน โดยไม่ต้องกำหนดเวลา เพราะอาจทำให้ลูกเครียดเกินไป

รวมไปถึงการให้รางวัลและลงโทษอย่างสม่ำเสมอ ถ้าอยากให้ลูกเป็นเด็กมีวินัย ก็ควรให้รางวัลหลังจากที่เขาทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากเราได้ดีแล้วเสียก่อน ส่วนการทำโทษ ไม่ควรใช้ความรุนแรง แต่อาจเป็นเพียงแค่ตัดสิทธิ์ เช่น ถ้ายังทำการบ้านไม่เสร็จก็จะไม่ได้ดูทีวี หรือถ้ายังเล่นเกมไม่เป็นเวลา พรุ่งนี้จะไม่ให้เล่นแล้ว เป็นต้น

สอนลูกให้มีความอดทน

คุณพ่อคุณแม่ทุกคนอยากให้ลูกมีความอดทน เพราะคนที่มีความอดทนนั้น ไม่ว่าจะเจอกับอุปสรรคใดๆ ในชีวิต เขาจะอยู่กับมัน สู้กับมัน และพยายามเอาชนะมันอย่างไม่ย่อท้อ การฝึกความอดทนสามารถฝึกให้ลูกได้ด้วยการไม่ตามใจลูกเกินไป ให้เขารู้จักการรอคอย ถ้าอยากได้ของเล่นใหม่ ก็ให้เขาพยายามทำอะไรดีๆ เช่น ตั้งใจเรียน มีวินัย ทำการบ้านทุกวัน

 

ที่มา : https://www.amarinbooks.com/