ความจริงของฟลูออไรด์ กับเด็ก

       มีข้อความส่งต่อทางสื่อสังคมออนไลน์ระบุถึงอันตรายต่างๆ ของฟลูออไรด์ เช่น ทำให้ไอคิวต่ำ เป็นมะเร็ง ฯลฯ ข้อความดังกล่าวถูกส่งเข้ามาถึงกลุ่มของทันตแพทย์เพื่อขอคำตอบที่แท้จริง ซึ่งไม่เป็นความจริง ในทางกลับกัน ฟลูออไรด์มีประโยชน์ในการป้องกันฟันผุ เป็นองค์ความรู้ที่ตกผลึกชัดเจนมานาน ข้อความที่ถูกส่งต่ออ้างถึงอันตรายของฟลูออไรด์เมื่อกินเข้าไป อย่างไรก็ดี อันตรายจากการให้ฟลูออไรด์โดยการกินยังไม่ได้รับการยืนยันชัดเจน และยังเป็นวิธีที่แนะนำโดยองค์การอนามัยโลกสำหรับประเทศที่การแปรงฟันด้วยยา สีฟันผสมฟลูออไรด์ยังไม่เป็นวิถีปฏิบัติของประชาชน
 
       สำหรับประเทศไทย ที่ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์เป็นสินค้าที่หาได้ง่ายโดยทั่วไป มีราคาไม่แพง ประกอบกับคนไทยที่มีนิสัยการแปรงฟันเป็นกิจวัตรประจำวันนั้น รูปแบบการใช้ฟลูออไรด์ในประเทศไทยจึงเน้นที่ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์เป็นหลัก ซึ่งจัดเป็นการใช้เฉพาะที่ภายในช่องปาก ไม่ได้เน้นผลจากการกิน (เช่น น้ำยาบ้วนปาก เจลเคลือบฟัน) การใช้รูปแบบเฉพาะที่นี้ แม้จะกลืนกินฟลูออไรด์ลงไปบ้าง ก็ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด อันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ กรณีอุบัติเหตุในเด็กเล็กที่กินยาสีฟันไปทั้งหลอด (ดังนั้น ผู้ปกครองควรเก็บยาสีฟันไว้ในที่สูง มิดชิด ไม่ให้เด็กหยิบเองได้) การใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ให้ควบคุมปริมาณในเด็กเล็ก คือ ตั้งแต่ฟันเริ่มขึ้น ถึงอายุไม่เกิน 2 ขวบ ใช้แค่ป้ายพอเปียกแปรง 2-6 ขวบ ใช้ขนาดเมล็ดถั่ว หากบีบยาสีฟันให้ตามปริมาณดังกล่าว แม้เด็กจะกลืนยาสีฟัน ก็ไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด (อันตรายในที่นี้ หมายถึง ฟันแท้ตกกระที่มาจากการได้รับฟลูออไรด์มากเกินไปในวัยเด็กเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับมะเร็งหรือไอคิวต่ำ)
 

เทคนิคสร้าง IQ ให้กับเด็ก

  1. ไอโอดีน เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ใช้สร้างไทรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งมีบทบาทในการควบคุมเมตาบอลิซึมของร่างกาย เร่งการหายใจ ควบคุมการเผาผลาญสารอาหารต่างๆ ในร่างกาย จึงมีผลต่อพลังงานและอุณหภูมิของร่างกายอย่างมาก ที่สำคัญคือ ควบคุมการเจริญเติบโตของร่างกาย จำเป็นต่อการเจริญและพัฒนาการของสมอง ช่วงที่กำลังมีการพัฒนาของสมองที่สำคัญ คือ ช่วงที่ตัวอ่อนอายุ 8 สัปดาห์จนถึง 3 ปีหลังคลอด การพัฒนาและเจริญเติบโตของสมอง
  2. ธาตุเหล็ก เป็นสารอาหารกลุ่มเกลือแร่ที่สำคัญมาก มีส่วนเสริมสร้างและพัฒนาสมองในช่วงแรกของชีวิต และมีผลสัมพันธ์โดยตรงต่อการพัฒนาระดับสติปัญญาของเด็ก จึงมักจะถูกยกมานำเสนอในการประชุมวิชาการด้านอาหารและโภชนาการวัยเด็กในประเทศไทยอยู่เสมอ
  3. ภาวะโภชนาการ มีการวิจัยพบว่าเด็กที่ดื่มนมแม่จะมี IQ สูงกว่าเด็กที่ดื่มนมผงหรือนมวัว และ สารอาหารครบ 5 หมู่ จะเพิ่มประสิทธิภาพของสมอง
  4. การกระตุ้นพัฒนาการ สัมผัสรักที่อบอุ่น เสียงที่อ่อนโยน การเล่นที่สร้างการเรียนรู้จากธรรมชาติจะกระตุ้นฮอร์โมนแห่งความสุขของเด็กและการทำงานของสมอง ส่งเสริมทั้ง IQ และ EQ

ที่มา : รศ.ทญ.สุดาดวง กฤษฎาพงษ์ , พญ.โชษิตา ภาวสุทธิไพศิฐ , สสส. , กระทรวงสาธารณสุข