ลูกวัยรุ่น : สอนลูกวัยรุ่นอย่างไรให้ได้ผล

ลูกวัยรุ่น : สอนลูกวัยรุ่นอย่างไรให้ได้ผล

เมื่อลูกย่างเข้าสู่วัยรุ่น : พ่อแม่หลายคนอาจกลุ้มใจหรือรู้สึกหงุดหงิดที่ลูกซึ่งเคยว่านอนสอนง่ายเริ่มโต้เถียง ลูกไม่เชื่อฟัง และแสดงพฤติกรรมหลายอย่างที่ทำให้พ่อแม่รู้สึกเป็นห่วง กังวล หรือ รู้สึกขัดหู ขัดตา ขัดใจ

พ่อแม่หลายคนแสดงออกถึงความห่วงใยลูก ด้วยคำพูดบ่น ว่าตักเตือน ตัวอย่างคำพูดที่พ่อแม่มักจะพูดบ่อยๆ เช่น

" อย่าเที่ยวให้มันมากนะ ดูหนังสือซะบ้าง "

" เพื่อนฝูงน่ะ เลือกคบที่ดีๆ มั่ง ไม่ใช่คบแต่ที่เลวๆ เอาแต่มั่วสุมกัน "

" ช่วยกันบ้างสิ งานบ้านน่ะ ต่อไปพ่อแม่ไม่อยู่ไม่มีใครมาคอยช่วยเหลือเก็บกวาดแล้วนะ "

คำพูดเหล่านี้ แม้จะพูดด้วยความห่วงใยและปราถนาดี แต่ผลที่ได้รับ คือ ลูกวัยรุ่นกลับโต้ตอบด้วยความไม่พอใจ ความโกรธ หรือ ถ้อยคำรุนแรงและไม่ทำตาม

ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ หากพ่อแม่มีความเข้าใจธรรมชาติของลูกวัยรุ่น และมีวิธีที่ชาญฉลาดในการพูดคุย การสอน และ การเตือนลูกวัยรุ่น


ลูกวัยรุ่น : สอนลูกวัยรุ่นอย่างไรให้ได้ผล

การพูดคุยกับลูกวัยรุ่นที่ดี

เริ่มต้นด้วยการเข้าใจธรรมชาติของวัยรุ่น

ความขัดแย้งระหว่างลูกวัยรุ่นกับพ่อแม่นั้น ส่วนใหญ่มาจากการที่พ่อแม่ขาดความเข้าใจธรรมชาติของวัยรุ่น ตามไม่ทันยุคสมัยของวัยรุ่น จึงมักตัดสินพฤติกรรมของลูกวัยรุ่นด้วยมาตรฐานของพ่อแม่หรือมีความคาดหวังที่ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของวัยรุ่น ซึ่งมีผลให้พ่อแม่และลูกวัยรุ่นมีความขัดแย้งกัน

พ่อแม่จึงควรเรียนรู้ธรรมชาติของวัยรุ่นว่าเป็นวัยที่ต้องการอิสระเป็นตัวของตัวเองและแสวงหาเอกลักษณ์ของตนเองมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่ายต้องการการยอมรับจากเพื่อนและบุคคลอื่นสูงจึงมักจะเลียนแบบทำตามเพื่อนหรือชอบทำตามกระแสนิยมของสังคม

วิธีการสอนลูกวัยรุ่นให้ได้ผล

แสดงความพร้อมที่จะเป็นที่ปรึกษาของลูกวัยรุ่น

สิ่งที่พ่อแม่ทุกคนควรจะกระทำเมื่อลูกเข้าวัยรุ่นก็คือ บอกพวกเขาว่ามีอะไรให้ปรึกษาได้ พ่อแม่พร้อมจะเข้าใจและรับฟังลูกเสมอ พ่อแม่ควรแสดงความใส่ใจลูกด้วยการสังเกตว่าลูกมีสีหน้าท่าทางไม่สบายใจหรือไม่ ทักทายลูกว่ามีอะไรไม่สบายใจหรือเปล่าอยากจะเล่าให้พ่อแม่ฟังไหม แต่ถ้าลูกไม่อยากพูดก็ไม่คาดคั้น ทว่าเมื่อไรลูกมีท่าทีอยากพูดหรืออยากเล่าอะไรให้พ่อแม่ฟัง พ่อแม่ควรแสดงความกระตือรือร้น ให้ความสำคัญ และรับฟังเขาทันที

รับฟังลูกวัยรุ่นอย่างใส่ใจและเปิดใจ

ช่องว่างระหว่างวัยจะลดลงได้ด้วยการรับฟังอย่างเข้าใจ พ่อแม่ควรรับฟังลูกในทุกเรื่องราวอย่างใส่ใจ การที่จะเป็นผู้ฟังที่ดีได้นั้น พ่อแม่จะต้องเป็นคนมีเหตุผลและอดทนที่จะรับฟังลูกขณะที่ลูกพูด แม้ว่าสิ่งที่ลูกพูดอาจไม่เข้าท่า อาจดูไร้สาระ ไร้เหตุผลในความคิดของพ่อแม่ พ่อแม่ก็ต้องเปิดใจรับฟัง พยายามเข้าใจเรื่องราว เข้าใจว่าความคิดและความรู้สึกของลูก โดยไม่ด่วนสรุป ไม่ตัดสิน หรือรีบสั่งสอน ซึ่งจะทำให้ลูกคิดว่า พ่อแม่ไม่ฟังและไม่อยากพูดต่อ

กระตุ้นให้ลูกวัยรุ่นได้แสดงความคิดเห็น

การที่จะกระตุ้นให้ลูกวัยรุ่นได้พูดคุยแสดงความคิดเห็น ควรใช้คำถามประเภทปลายเปิดเพื่อกระตุ้นให้ลูกเล่า เช่น

  • “เรื่องมันเป็นอย่างไร”
  • “คำพูดอะไรของเพื่อนที่ทำให้ลูกโกรธ”
  • “ลูกโต้ตอบเพื่อนอย่างไรเมื่อเพื่อนล้อเลียนลูก”

รวมทั้งการพูดถึงความรู้สึกของลูกตามที่พ่อแม่รับรู้และเข้าใจ เช่น

  • “ลูกเสียใจที่เพื่อนเข้าใจลูกผิด”
  • “ลูกหัวเสียที่เพื่อนไม่ช่วยงานในกลุ่ม”

ซึ่งคำพูดเช่นนี้จะทำให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่พร้อมจะรับฟังให้ความสำคัญกับตนเองและทำให้ลูกอยากเล่าเรื่องราวมากขึ้น

ให้ความเห็น คำแนะนำ และข้อเสนอแนะต่างๆ แทนการสั่งให้ลูกวัยรุ่นทำ

พ่อแม่สามารถให้ความคิดเห็น คำแนะนำ และข้อเสนอในเรื่องต่างๆ แก่ลูกวัยรุ่น ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การคบเพื่อน การปรับตัว แต่ควรเป็นลักษณะการแลกเปลี่ยน คือ ให้โอกาสลูกวัยรุ่นได้พูดถึงข้อคิดเห็นและมุมมองของลูกก่อน แล้วพ่อแม่ก็แสดงความคิดเห็นทั้งในแง่ที่พ่อแม่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นของลูก ซึ่งการที่พ่อแม่ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้และสามารถให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะอีกด้านหนึ่งที่เป็นเหตุเป็นผลมาจากความห่วงใยและปรารถนาดี

การเป็นฝ่ายรับฟังและยอมรับลูกวัยรุ่นก่อน จะทำให้ลูกเปิดใจรับฟังพ่อแม่และยินดีปฏิบัติตามมากกว่าวิธีการสั่งให้เขาทำแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งมักตามมาด้วยท่าที่ต่อต้านไม่เชื่อฟังและขัดแย้งกัน

สอนลูกวัยรุ่นในบรรยากาศแบบสบายๆ

เคล็ดลับที่สำคัญ คือ หาโอกาสที่จะสอนในบรรยากาศที่ดีการสอนเรื่องอะไรก็ตามอย่าสอนหรือพูดคุยอย่างเป็นทางการเพราะลูกวัยรุ่นจะไม่เชื่อฟังอาศัยสอนอ้อม ๆ จากข่าวสารต่างๆเช่นจากการดูละครทีวีหนังสือพิมพ์รายการวิทยุโทรทัศน์ควรพูดคุยด้วยอารมณ์ขันและพยายามรับฟังความเห็นของเขารวมทั้งเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงความเห็นในเรื่องราวต่างๆเป็นประจำฟังลูกวัยรุ่นให้มากและพยายามสอดแทรกข้อคิดเห็นต่างๆร่วมกันเมื่อลูกวัยรุ่นเริ่มคุ้นเคยก็พร้อมจะรับฟังมากขึ้น

พูดคุย และ สอนเฉพาะเรื่องที่จำเป็น

ลูกวัยรุ่นต้องการความเป็นส่วนตัว เรื่องบางเรื่องที่ลูกวัยรุ่นอาจไม่อยากให้รับรู้ ถ้าเห็นว่าไม่ร้ายแรงหรือไม่เป็นอันตรายก็ไม่ควรซักไซร้มากเกินไป เช่น ลูกชายอาจจะไม่อยากเล่าเรื่องสาวๆ บางคนที่เขาสนิท เพราะบางครั้งการพูดหรือซักถามด้วยความเป็นห่วงของพ่อแม่ อาจกลายเป็นเรื่องน่ารำคาญ และส่งผลให้ลูกวัยรุ่นไม่อยากพูดคุยกับพ่อแม่


ที่มา : เอกสารแผ่นพับ เรื่อง "คุยกับลูกวัยรุ่น"

โดย : กลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ / สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์